ประวัติหลวงพ่อแดง วัดเขาบันไดอิฐ
หลวงพ่อแดง เกิดเมื่อเดือนเมษายน ปีระกา พ.ศ. ๒๔๒๑ (บางประวัติว่าเกิดวันพุธที่ ๑๗ กันยายน ๒๔๒๒) ที่บ้านสามเรือน หมู่ที่ ๔ ตำบลบางจาก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อนายแป้น มารดาชื่อนางนุ่ม อ้นแสง มีพี่น้องรวมกัน ๑๒ คน ท่านเป็นคนที่ ๕
ปัจจุบันยังมีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว คือ นางน้อย เกิดประดับ ท่านเป็นพี่ชายของ พระครูปัญญาโชติวัฒน์ ( เจริญ ธมฺมโชติ ) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี เป็นที่น่าสังเกตว่า โยมบิดามารดาของท่านเป็นบุคคลผู้มีวาสนา เพราะมีบุตรชายอุปสมบทและครองสมณเพศอยู่จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตถึง ๒ รูป ทั้งยังได้เป็นเจ้าอาวาส ที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตรทั้ง ๒ รูป ด้วย ครอบครัวของท่านมีฐานะพอมีพอกิน และเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งในละแวกนั้น
เมื่อมีอายุครบบวชในปี พ.ศ. ๒๔๔๑ บิดามารดาได้นำท่านไปฝากไว้กับพระอาจารย์เปลี่ยนแห่งวัดเขาบันไดอิฐ และเมื่อได้บวชตามประเพณีแล้ว (บางประวัติว่า อุปสมบท เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๔๔๔ อายุ ๒๒ ปี ที่วัดเขาบันไดอิฐ ตำบลไร่ส้ม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี พระครูญาณวิสุทธิ วัดแก่นเหล็ก อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ ) ได้รับฉายาว่า รตฺโต (แปลว่าสีแดง) ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาบันไดอิฐตลอดมา หลังจากบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านเล่าเรียนวิชาไสยศาสตร์และวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์เปลี่ยนจนจบ เมื่อพระอาจารย์เปลี่ยนได้ถึงแก่มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๔๖๑ หลวงพ่อแดงซึ่งขณะนั้นเพิ่งมีอายุย่างเข้า ๔๐ ปี พรรษาที่ ๒๐ ก็ได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐแทนเป็นต้นมา
ท่านมีวิทยาคมขลังเป็นที่นับถืออย่างมาก ในช่วง พ.ศ. ๒๔๗๙ ได้เกิดโรคระบาดอย่างร้ายแรงขึ้นที่จังหวัดเพชรบุรีทำให้วัวควายล้มตายลงเป็นอันมาก ท่านได้ปลุกเสกผ้ายันต์สีแดง ขนาดเท่าผ้าเช็ดหน้า ให้ชาวบ้านนำไปผูกไว้ที่ปลายไม้ไผ่ แล้วปักไว้ที่คอกวัวควาย คอกใดที่ผ้ายันต์ของท่านมาปักไว้ วัวควายของคอกนั้นจะไม่เป็นโรคติดต่อ ชื่อเสียงของท่านจึงโด่งดังเป็นที่รู้จักแต่นั้นมา มีผู้คนไปขอของดีไว้ป้องกันตัวจากท่านมิได้ขาด ท่านจึงได้ทำผ้ายันต์และตะกรุดไว้แจก ผู้ที่นำตะกรุดและผ้ายันต์ของท่านไปบูชามักจะประสบกับอิทธิปาฏิหาริย์อยู่เสมอ
เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๐๒ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น "พระครูญาณวิลาศ" พร้อมรับพระราชทานสัญญาบัตรพัดยศ ลูกศิษย์จึงได้ทำการฉลองสมณศักดิ์ให้ท่าน
ในการนี้ท่านได้สร้างเหรียญขึ้นเพื่อแจกจ่ายแก่ผู้มาร่วมงาน นับว่าเป็นเหรียญรุ่นที่หนึ่งของท่าน เป็นเหรียญทองแดงรมดำ จำนวน ๑๕,๐๐๐ เหรียญ และเป็นเหรียญเงินจำนวน ๘๓ เหรียญ เท่าจำนวนอายุของท่านที่ย่างเข้าปีที่ ๘๓ ตัวเหรียญเป็นรูปวงรีคล้ายรูปไข่ ส่วนกว้างที่สุดประมาณ ๒.๖ เซนติเมตร สูงสุดประมาณ ๓.๔ เซนติเมตร เนื้อโละทำด้วยทองแดงรมดำ ด้านหน้าบนซ้ายมือมีอักษรปั๊มนูนสูงว่า "พ.ศ. ๒๕๐๓" ทางด้านขวามือมีอักษรเขียนว่า "อายุ ๘๒ ปี" ส่วนด้านล่างเขียนว่า "พระครูญาณวิลาศ (แดง)" ส่วนด้านหลัง ลงหัวใจพระพุทธคุณต่างๆ ไว้ด้วยภาษาขอม ตรงกลางด้านหลังลงยันต์สี่ มีหัวขมวด เป็นเหรียญที่ดังมาก พุทธคุณมีประสบการณ์สูงทาง คงกระพันชาตรี แคล้วคลาด ปัจจุบันหายากมากๆ
หลังจากที่เหรียญรุ่นหนึ่งสร้างประสบการณ์ต่างๆ มากมาย จนกิตติศัพท์ความศักดิ์สิทธิเป็นที่เลื่องลือ ผู้คนต่างพากันมาขอเหรียญร่วมทำบุญ จนเหรียญรุ่นหนึ่งหมดไปจากวัด จึงได้มีการสร้างเหรียญรุ่นสอง สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ลักษณะองค์หลวงพ่อและอักขระเลขยันต์เหมือนกับเหรียญรุ่นหนึ่ง แต่ต่างกันที่คำว่า "เอ" (ซึ่งเป็นอักษรขอมตำแหน่งล่างสุด) ของรุ่นหนึ่งจะมีดูคล้าย "ฃ" แต่ของรุ่นสองดูคล้ายเลข "๘" เหรียญรุ่นสองนี้มีประสบการณ์แคล้วคลาดมากมายไม่แพ้รุ่นหนึ่งเลย ในการสร้างรุ่นที่สองนี้ ท่านได้สั่งทำเหรียญขนาดเล็กด้วยอัลปาก้า เพื่อสำหรับแจกแม่ครัวเรียกว่า "รุ่นแจกแม่ครัว" อีกด้วย
ในงานฉลองอายุท่านเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ทางวัดได้สร้างเหรียญขึ้นใหม่ โดยใช้ข้อความและตัวอักษร เหมือนรุ่นหนึ่งทุกอย่าง แต่ใบหน้าหลวงพ่อเปลี่ยนไป ในปีเดียวกันนี้มีพ่อค้าได้สร้างเหรียญขึ้นอีกรุ่นเพื่อนำไปให้ท่านปลุกเสก คราวนี้ได้เปลี่ยนใบหน้าหลวงพ่อให้ชราภาพมากขึ้น ข้อความด้านหน้าเหรียญด้านบนปั๊มคำว่า " พ.ศ. ๒๕๑๐ ที่ระลึกอายุครบรอบ ๘๙ ปี" ด้านล่างปั๊มคำว่า "พระครูญาณวิลาศ (แดง)" อักษรเลขยันต์ด้านหลังเหมือนรุ่นหนึ่ง แต่ได้ตอกภาษาจีนอ่านว่า " โจว" ไว้ที่ใต้ตัวอุ เหรียญรุ่นนี้มีเนื้อทองคำ นาค เงิน และทองแดงรมดำ เนื้อทองแดงมีจำนวน ๒,๐๐๐ เหรียญ
พ.ศ. ๒๕๑๑ ท่านมีอายุครบ ๙๐ ปี พลโท สำราญ แพทยกุล แม่ทัพภาคที่ ๑ ในขณะนั้น ซึ่งเป็นชาวเพชรบุรีโดยกำเนิด ได้ขอให้ท่านทำเหรียญขึ้นอีกรุ่นเป็นรูปอาร์ม โดยได้ว่าจ้างให้กองกษาปณ์ กรมธนารักษ์ ออกแบบ แกะพิมพ์และปั๊มเหรียญรุ่นนี้ขึ้น โดยจำนวนที่สร้างคือ เนื้อทองแดงมีจำนวน ๔๘,๐๐๐ เหรียญ ส่วนเนื้อเงินและทองคำ ตามจำนวนที่สั่งจอง เหรียญรุ่นนี้เรียกว่า "รุ่นแม่ทัพสร้าง" หรือ "เหรียญแม่ทัพ" และยังมีเนื้ออัลปาก้าอีกด้วย
เป็นเหรียญรุ่นที่ได้รับความนิยมมากรองจากรุ่น ๑ พิธีปลุกเสกเหรียญรุ่นนี้จัดว่ายิ่งใหญ่มาก เพราะนอกจากหลวงพ่อแดงท่านจะปลุกเสกเดี่ยวแล้ว ยังจัดให้มีพิธีพุทธาภิเษก และมีมหรสพเฉลิมฉลอง ๕ วัน ๕ คืน ภายหลังจากพิธีจึงได้นำเหรียญออกให้เช่าบูชา
เมื่อเปิดให้เช่าบูชา มีทหารจำนวนมากได้เช่าบูชาไป แล้วนำไปทดลองยิงที่ข้างวัด ปรากฏว่า "ปืนแตก" ดังนั้น เหรียญรุ่นนี้จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างว่า "รุ่นปืนแตก"
การนำไปลองยิงจนปืนแตก ทำให้มีผู้สนใจบูชากันจนเหรียญหมดภายในวันเดียว ดังนั้น มทภ. 1 จึงต้องสั่งให้ปั๊มขึ้นมาอีก โดยใช้แม่พิมพ์ที่เคยใช้ปั๊มเหรียญเนื้อทองคำและเนื้อเงิน ชนิดมีดาวมาปั๊มเหรียญเนื้อทองแดงด้วย โดยต้องเร่งใช้รถ GMC บรรทุกเหรียญมาให้หลวงพ่อแดงปลุกเสก โดยเหรียญที่ปั๊มเพิ่ม หลวงพอแดงปลุกเสกเดี่ยว ไม่ทันปลุกเสกหมู่ เพื่อให้ทันก่อนวันที่ ๑๙ เมย. ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นวันที่ได้ประกาศว่าจะเปิดให้เช่าบูชาเป็นครั้งที่ ๒
ในปี ๒๕๑๒ ได้มีการสร้างเหรียญที่ต่อมาได้รับความนิยมมากที่สุดเหรียญหนึ่ง คือ เหรียญ "รุ่นโบสถ์ลั่น" หรือ "เหรียญสองพี่น้อง" หรือ "เหรียญรูปซ้อนหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ"
หลวงพ่อเจริญ หรือ พระครูปัญญาโชติวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาส วัดทองนพคุณ จังหวัดเพชรบุรี เป็นน้องชายร่วม บิดา-มารดาเดียวกับหลวงพ่อแดง มีอายุอ่อนกว่าหลวงพ่อแดง ๕ ปี มีความต้องการที่จะจัดสร้างเหรียญรูปซ้อนขึ้น เพื่อหาเงินมาสร้างและซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างและถาวรวัตถุ ภายในวัดทองนพคุณ จึงได้เข้าไปปรึกษาหลวงพ่อแดง ผู้เป็นพี่ชาย
เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อเจริญจึงจัดสร้างขึ้นในปี ๒๕๑๒ แล้วนำไปให้หลวงพ่อแดงปลุกเสกก่อน ๑ พรรษา ภายหลังจึงจัดทำพิธีพุทธาภิเษกขึ้นที่วัดทองนพคุณ โดยนิมนต์เกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านวิทยาคมเข้ามาร่วมปลุกเสก โดยมีหลวงพ่อแดง เป็นประธานในพิธี
ในขณะที่ปลุกเสกเหรียญรูปซ้อนดังกล่าวในพระอุโบสถนั่น ก็เกิดเสียงลั่นที่โน่นที่นี่ภายในโบสถ์ บรรดาญาติโยมและผู้ศรัทธาที่อยู่ใมโบสถ์ ต่างก็สอดส่ายสายตามองไปภายในรอบๆ โบสถ์ ว่ามีเหตุการณ์ผิดปรกติ โบสถ์จะร้าวลั่นแตกพังลงมาหรือไม่ ปรากฏว่า สภาพภายในก็เป็นปรกติ มีแต่เสียงที่ยังคงดังลั่นอยู่
หลังจากพิธีปลุกเสกได้เรียบร้อย เสียงดังกล่าวก็ได้เงียบหายไป ชาวบ้านที่อยู่ในเหตุการณ์ต่างพูดต่อกันปากต่อปาก เป็นที่โจษจันกันไปในเวลาอันรวดเร็ว
จากนั้นเมื่อนำเหรียญรูปซ้อนออกมาให้เช่าบูชา ปรากฏว่าเหรียญได้หมดไปจากวัดในเวลาสั้นๆ ไม่เพียงพอต่อผู้ที่เข้ามาเช่าหาบูชา หลวงพ่อเจริญจึงได้จัดสร้างเหรียญนี้ใหม่อีกครั้ง โดยแกะแม่พิมพ์ขึ้นมาใหม่ โดยใช้แบบอย่างเหรียญเดิม แล้วนำเหรียญรุ่นที่ ๒ ดังกล่าวจำนวนหนึ่งมอบให้กับหลวงพ่อแดงที่วัดเขาบันไดอิฐ
พ.ศ. ๒๕๑๓ คณะนายทหารตำรวจจากโรงเรียนนายร้อย จปร. รุ่น ๑๒ ซึ่งมี พลโท ฉลาด หิรัญศิริ เป็นประธานรุ่น ได้ขออนุญาตหลวงพ่อแดงสร้างเหรียญเพื่อเป็นที่ระลึกในการรับราชการครบ ๓๐ ปี แล้วนำมาให้หลวงพ่อแดงปลุกเสก ๑ ไตรมาสแล้วนำมาเข้าพิธีพุทธาภิเษกที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยพระเกจิชื่อดังทั่วประเทศอีกครั้งหนึ่ง เหรียญรุ่นนี้มีโค้ดคำว่า "แดง" ซึ่งเป็นลายมือของหลวงพ่อ แกะเป็นแม่พิมพ์แล้วตอกลงไปด้านหน้าของทุกเหรียญ
นอกจากเหรียญรุ่น จปร แล้ว ในปี ๒๕๑๓ หลวงพ่อแดงท่านสร้างวัตถุมงคลหลายชนิด ท่านยังสร้างเหรียญรุ่น พศ. ๒๕๑๓ อายุ ๙๒ ปี และ "พระผงญาณวิลาศ" ไว้ด้วย พระผงญาณวิลาศนี้ หลวงพ่อแดงปลุกเสกเดี่ยวเป็นเวลา 1 ปีเต็ม แล้วจึงนำออกแจกในปี ๒๕๑๔ (ที่กล่องจะเขียนว่าปี ๒๕๑๔) โดยสามารถแบ่งได้เป็น ๓ พิมพ์ ด้านหลังปั๊มยันต์และอักขระของหลวงพ่อ คือ
๑. พิมพ์พระสมเด็จ แบ่งออกเป็น พิมพ์ตื้นซึ่งสร้างขึ้นก่อน หายาก, พิมพ์ลึกเป็นพิมพ์ที่พบเห็นกันทั่วไปในวงการ พิมพ์สมเด็จมีสีแดง สีเหลือง สีขาว พิมพ์ใหญ่จะมีขนาดกว้าง ๒.๒ เซ็นติเมตร สูง ๓.๖ เซ็นติเมตร นอกจากนี้ยังมี "พิมพ์คะแนน" ที่มีขนาดเล็กลงมา ทำขึ้นสำหรับคั่น เวลานับจำนวนพิมพ์ใหญ่ได้ครบทุก ๑๐๐ องค์ พระผงรุ่นนี้มีประสบการณ์มากมาย แม้กระทั่งตำรวจพลร่มโดดร่มลงมาแต่ร่มไม่กาง แต่กลับรอดตายราวปาฏิหาริย์ โดยในคอแขวนพระผงญาณวิลาศของหลวงพ่อแดงนั้นเอง
๒. พิมพ์สามเหลี่ยมหรือพิมพ์นางพญา
๓. พิมพ์พระปิดตา
โดยทั้ง ๓ แบบมีเนื้อ ๔ สีคือ ขาวอมเหลือง แดง เทา และดำ และนอกจากเนื้อผงแล้วก็มีเนื้อชินอีกด้วย
มวลสาร (บางส่วน) ที่นำมาผสมในองค์พระมีดังนี้
วัตถุมงคลของท่านยังมีอีกหลายรุ่น เช่น ยุวพุทธิกสมาคม ชลบุรี สร้างรุ่นพิเศษ "ไตรภาคี" เนื้อผงสีแดง พิมพ์พระแก้วมรกต พระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธชินราช นำมาให้ท่านปลุกเสก , รุ่นวัดเทพธิดา (หลังโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ) สร้าง, เหรียญที่มีรูปท่านเต็มองค์นั่งคุกเข่าอยู่ด้านหน้าเหรียญ เรียกว่า "เหรียญคุกเข่า" ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗